กลอนดอกสร้อยลำพึงในป่าช้า



ประวัติที่มาของเรื่อง
        กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้ามาจากบทกวีนิพนธ์เรื่อง Elegy Writen in a Country Churchyard ของทอมมัส เกรย์ (Thormas Gray)กวีอังกฤษผู้มีชีวิตอยู่ในช่วง(กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 Elegy หมายถึงโคลงที่กล่าวไว้อาลัยหรือคร่ำครวญถึงผู้ที่จากไป โดยพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)  ได้ประพันธ์จากต้นฉบับแปลของเสฐียรโกเศศ เป็นกลอนดอกสร้อยจำนวน 33 บท (ในที่นี้คัดมาเพียง 21 บท)

ผู้แต่ง : พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)

ลักษณะคำประพันธ์ : กลอนดอกสร้อย

ประวัติผู้แต่ง

          พระยาอุปกิตศิลปะสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2422 ศึกษาพระธรรมวินัยจนสอบได้เปรียญ 6 ประโยค พ.ศ. 2443 ได้เข้าสอบไล่วิชาครูในโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์สายวลีสัณฐาคารและได้สอนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ภายหลังเข้ารับราชการในกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) พนักงานกรมราชบัณฑิตย์ ปลัดกรมตำราหัวหน้าการพิมพ์แบบเรียนกรมวิชาการ หัวหน้าแผนกอภิธานสยาม ได้เลื่อนยศจนเป็นอำมาตย์เอกพระยาอุปกิตศิลปสาร และ เป็นอาจารย์พิเศษคณะอัษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเป็นผู้เสนอให้ใช้คำว่า“สวัสดี” ในการทักทายกัน นามแฝง ในการเขียนบทความ ได้แก่ อ.น.ก. อนึกคำชูชีพ อุนิกา สามเณรนิ่ม พระมหานิ่ม ม.ห.ม.
          ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2484 และมอบศพให้แก่การศึกษาวิชาแพทย์นับว่าท่านเป็นครูอย่างแท้จริง

จุดประสงค์ของการแต่ง

1.   ชี้ให้เห็นความเป็นอนิจจังของชีวิตสอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต
2.   คุณค่าด้านเนื้อหาอยู่ที่การมุ่งแสดงความจริงเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ว่า “ไม่มีผู้ใดหลีกหนีความตายได้”
3.   แสดงความรู้สึกยกย่องชีวิตอันสงบ เรียบง่ายและความสุขอันเกิดจากความสันโดษ เป็นการให้คติธรรมอันทรงคุณค่าแก่การดำเนินชีวิต

เนื้อเรื่องย่อ

            ในเวลาเย็นใกล้ค่ำชายผู้หนึ่งเข้าไปนั่งอยู่ในวัดชนบทแห่งหนึ่งที่มีแต่ความเงียบสงบ เมื่อได้ยินเสียงระฆังย่ำบอกเวลาใกล้ค่ำ เขาเห็นชาวนาพากันจูงวัวควายเดินทางกลับบ้าน เมื่อสิ้นแสงตะวันได้ยินเสียงหรีดหริ่งเรไรและเสียงเกราะในคอกสัตว์ นำแสกที่จับอยู่บนหอระฆังก็ส่งเสียงร้อง ณ บริเวณโคนต้นโพธิ์ ต้นไทรนั้นเอง มีหลุมฝังศพต่าง ๆ   อยู่มากมาย ความเงียบสงบและความวิเวกก่อให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งในสัจธรรมของชีวิต ท่านผู้นั้นจึงรำพึงรำพันออกมาเป็นบทกวีว่า แม้ผู้ดีมีจน นาย ไพร่ นักรบ กษัตริย์ ต่างก็มีจุดจบคือความตายเหมือนกัน

ตัวอย่างบทประพันธ์ในกลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า
           
         ๑ วังเอ๋ยวังเวงหง่างเหง่ง! ย่ำค่ำระฆังขาน

ฝูงวัวควายผ้ายลาทิวากาลค่อยค่อยผ่านท้องทุ่งมุ่งถิ่นตน

ชาวนาเหนื่อยอ่อนต่างจรกลับตะวันลับอับแสงทุกแห่งหน

ทิ้งทุ่งให้มืดมัวทั่วมณฑลและทิ้งตนตูเปลี่ยวอยู่เดียวเอย

ถอดคำประพันธ์

          เสียงระฆังตีย่ำดังหง่างเหง่ง มาทำให้เกิดความวังเวงใจยิ่งนัก ในขณะที่ฝูงควายก็เคลื่อนจากท้องทุ่งลาเวลากลางวันเพื่อมุ่งกลับยังถิ่นที่อยู่ของมัน ฝ่ายพวกชาวนาทั้งหลายรู้สึกเหนื่อยอ่อนจากการทำงานต่างก็พากันกลับถิ่นพำนักของตนเมื่อตะวันลับขอบฟ้าก็ไม่มีแสงสว่าง ทำให้ท้องทุ่งมืดไปทั่วบริเวณและทิ้งให้ข้าพเจ้าเปล่าเปลี่ยวอยู่แต่เพียงผู้เดียว

         ๒ ยามเอ๋ยยามนี้ปถพีมืดมัวทั่วสถาน

อากาศเย็นเยือกหนาวคราววิกาลสงัดปานป่าใหญ่ไร้สำเนียง

มีก็แต่จังหรีดกระกรีดกริ่ง! เรไรหริ่ง! ร้องขรมระงมเสียง

คอกควายวัวรัวเกราะเปาะเปาะ! เพียงรู้ว่าเสียงเกราะแว่วแผ่วแผ่วเอย


ถอดคำประพันธ์

          ยามนี้แผ่นดินมืดไปทั่ว อากาศเย็นยะเยือกหนาว เพราะเป็นเวลากลางคืน และป่าใหญ่แห่งนี้ก็เงียบสงัด มีแต่จิ้งหรีดและเรไรร้องกันเซ็งแซ่ไปหมด เจ้าของคอกวัวควายต่างก็รัวเกราะกันเป็นเสียงเปราะๆ ทำให้รู้ว่าเป็นเสียงเกราะดังแว่วมาแต่ไกล


          ๓ นกเอ๋ยนกแสกจับจ้องร้องแจ๊กเพียงแถกขวัญ

อยู่บนยอกหอระฆังบังแสงจันทร์มีเถาวัลย์รุงรังถึงหลังคา

เหมือนมันฟ้องดวงจันทร์ให้ผันดูคนมาสู่ซ่องพักมันรักษา

ถือเป็นที่รโหฐานนมนานมาให้เสื่อมผาสุกสันต์ของมันเอย

ถอดคำประพันธ์

          นกแสกร้องแจ๊ก ๆ เพื่อทำให้เสียขวัญ มันจับอยู่บนหอระฆังที่มีเถาวัลย์พันรุงรังถึงหลังคาและบัง        แสงจันทร์อยู่ เหมือนมันจะฟ้องดวงจันทร์ว่าให้หันมาดูผู้คนที่มาสู่ที่อยู่มันรักษาไว้ ซึ่งถือเป็นส่วนที่เฉพาะส่วนตัว มานาน ทำให้มันไม่มีความสุข
         
          ๔ ต้นเอ๋ยต้นไทรสูงใหญ่รากย้อยห้อยระย้า

และต้นโพธิ์พุ่มแจ้แผ่ฉายามีเนินหญ้าใต้ต้นเกลื่อนกล่นไป

ล้วนร่างคนในเขตประเทศนี้ดุษณีนอนราย ณ ภายใต้

แห่งหลุมลึกลานสลดระทดใจเรายิ่งใกล้หลุมนั้นทุกวันเอย

ถอดคำประพันธ์

          มีต้นไม้สูงใหญ่รากย้อยห้อยระย้าและต้นโพธิ์ที่เป็นพุ่มแผ่ร่มเงาออกไปโดยรอบ ที่ใต้ต้นไม้มีเนินหญ้าเป็นที่ฝังศพคนในระแวกแถวนี้ ซึ่งนอนนิ่งอยู่เกลื่อนไปหมดในหลุมลึก ดูแล้วน่าสลดใจอย่างยิ่งนัก และตัวของข้าพเจ้าเองก็ใกล้หลุมนี้เข้าไปทุกวัน
         
          ๕ หมดเอ๋ยหมดห่วงหมดดวงวิญญาณลาญสลาย

ถึงลมเช้าชวยชื่นรื่นสบายเตือนนกแอ่นลมผายแผดสำเนียง

อยู่ตามโรงมุงฟางข้างข้างนั้นทั้งไก่ขันแข่งดุเหว่าระเร้าเสียง

โอ้เหมือนปลุกร่างกายนอนรายเรียงพ้นสำเนียงที่จะปลุกให้ลุกเอย


ถอดคำประพันธ์

หมดห่วงเนื่องจากดวงวิญญาณได้แตกสลายไปแล้วถึงแม้ว่าลมยามเช้าจะชายพัดให้สดชิ้น เป็นการเตือนนกแอ่นลมให้เคลื่อนออกจากที่แผดร้องไปตามโรงนาทั้งไก่ก็ขันแข่งกับนกดุเหว่า เหมือนจะช่วยกันปลุกร่างของผู้นอนรายเรียงที่อยู่ให้หลุมฝังศพให้ตื่นขึ้นแต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ยินเสียงปลุกเสียแล้ว

ที่มา : (https://nongnanlovelove.wordpress.com)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น